บทความวิชาการ

“โปรไบโอติก” ทางเลือกใหม่ ห่างไกลโรค

เรียบเรียงโดย สุธีรา ศรีสมัย

ปลาป่วย ... ต้องรักษา !!

       เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อปลาป่วยหรือติดโรค ควรรีบแยกปลาที่เป็นโรคออกมาจากบ่อเพาะเลี้ยง เพื่อเร่งทำการรักษาก่อนเกิดปัญหาโรคระบาด อันนำไปสู่ความสูญเสียที่มากยิ่งขึ้น โรคในปลาส่วนใหญ่ที่พบ เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกันตั้งแต่ ความเครียดจากสภาพแวดล้อม ภาวะขาดสารอาหาร ไปจนถึงการติดโรคจากปรสิต รา ไวรัส และแบคทีเรียต่างๆ เป็นต้น

รักษาไม่ดีมีผลเสีย ...

       เมื่อปลาเป็นโรค ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนใหญ่จะใช้ยาและสารเคมีในการรักษา แต่ในปัจจุบัน มีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีผิดวัตถุประสงค์ พบว่า ผู้เพาะเลี้ยงหลายท่านให้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์น้ำเกินความจำเป็น โดยให้เพื่อกระตุ้นการเจริญและป้องกันโรค

ผลเสียที่ตามมา ...

       เมื่อผู้เพาะเลี้ยงใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีในการกระตุ้นการเจริญและป้องกันโรคเป็นระยะเวลานาน ย่อมเกิดการสะสมของยาและสารเคมีตกค้างในเนื้อสัตว์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้ง การให้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีเป็นระยะเวลานาน ย่อมมีแนวโน้มที่นำไปสู่การดื้อยาของเชื้อก่อโรคได้ในอนาคต

       นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกสัตว์น้ำอีกด้วย ในปัจจุบันหลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการบริโภคที่มีความสะอาดและปลอดภัย การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์จึงมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมการส่งออกสัตว์น้ำไทย จึงควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สร้างอำนาจทางการแข่งขัน และสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทำไม ... จึงต้องป้องกันโรค ?

       ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการหาวิธีป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้น การป้องกันโรคในสัตว์น้ำอย่างปลอดภัย ด้วยวิธีควบคุมทางชีวภาพ (bio control) ซึ่งเป็นการใช้กลไกทางธรรมชาติในการควบคุมและจัดการกับเชื้อก่อโรคอย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โปรไบโอติก ... แนวทางใหม่ในการป้องกันโรค ?

โปรไบโอติก คือ กลุ่มจุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารของร่างกาย อาทิ ป้องกันการติดโรคท้องร่วงท้องเสีย ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร รักษาสมดุลภายในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ เป็นต้น โปรไบโอติกจะมีประสิทธิภาพดีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ จุลินทรีย์กลุ่มแลคโตบาซิลลัส            บิฟิโดแบคทีเรียม นอกจากนี้ เราสามารถพบเห็นโปรไบโอติกในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย อาทิ โยเกิร์ต ผักผลไม้หมักดอง โชยุ และกิมจิ เป็นต้น

การประยุกต์ใช้โปรไบโอติกในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและบำบัดคุณภาพน้ำ นับเป็นหนึ่งแนวทางในการควบคุมทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ โดยมีรูปแบบการทำงาน ดังนี้

  • การใช้โปรไบโอติกเสริมในอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และควบคุมจุลินทรีย์ก่อโรคให้มีความสมดุลกัน จึงทำให้สัตว์ไม่เป็นโรค
  • การใช้โปรไบโอติกที่เสริมในอาหารสัตว์ เพื่อยับยั้งการก่อโรคและกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำ โปรไบโอติก มีกลไกในการยับยั้ง ทำลายเชื้อก่อโรค และลดระยะเวลาการเกิดโรคด้วยกลไกต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของโปรไบโอติก เช่น การสร้างกรดหรือแบคเทอริโอซิน การสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อก่อโรคบางสายพันธุ์ การสร้างเอนไซม์เพื่อย่อยสลายเมือกที่ล้อมรอบเซลล์ของแบคทีเรียก่อโรค (Moriarty, 1998) หรือใช้หลายกลไกร่วมกัน เป็นต้น
  • การใช้โปรไบโอติกที่เสริมในอาหารสัตว์ เพื่อช่วยย่อยสารอาหารขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง ช่วยให้สัตว์น้ำมีการดูดซึมอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น โดยหลั่งเอนไซม์ เช่น อะไมเลส โปรติเอส และไลเปส ที่ช่วยย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ตามลำดับ นอกจากนี้ เอนไซม์ดังกล่าว เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำยังสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ขนาดใหญ่ที่แขวนลอยเป็นขยะในแหล่งน้ำ ช่วยบำบัดให้แหล่งน้ำมีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย

ล่าวได้ว่า ...

โปรไบโอติกแต่ละชนิดที่มีการนำมาใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น ล้วนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและรูปแบบในการใช้งาน ทั้งในด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค การบำบัดของเสียที่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำ ดังนั้น การเลือกใช้โปรไบโอติกที่มีคุณสมบัติที่จำเพาะต่อความต้องการ จึงจะส่งผลให้งานที่ได้มีประสิทธิภาพดีที่สุด นอกจากนี้ การใช้โปรไบโอติกยังเป็นวิธีทางธรรมชาติในการช่วยลดและควบคุมปริมาณแบคทีเรียก่อโรค โดยไม่ต้องใช้สารเคมีและสารปฏิชีวนะ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ย้อนกลับ